RSS

กษัตริย์ และ เกษตร

13 มี.ค.

นับว่าเป็นความคิดที่ดี ที่ได้มีการจัดพิมพ์หนังสือ กษัตริย์ – เกษตร ขึ้น เพราะทั้งสองประการนี้คือทั้ง กษัตริย์ และ เกษตร เป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดของประเทศไทยตั้งแต่โบราณมาจนปัจจุบันนี้

ประเทศไทยปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาตลอดนับพันปี และก็จะมีต่อไปทั้งๆที่ระบบนี้ได้ล้มเหลวมาแล้วในหลายประเทศ เพราะอะไร? พระมหากษัตริย์ของไทยแม่ในสมัยที่เรียกกันว่าสมบูรณาญาสิทธิราช ก็มิได้ทรงใช้พระราชอำนาจนั้นในทางที่จะเป็นประโยชน์ส่วนพระองค์ยิ่งไปกว่าที่จะให้เป็นประโยชน์แก่ราษฎร ทั้งยังจะทรงใช้พระราชอำนาจในทางสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น สั่งสอน ปลูกฝัง ประชาธิปไตยให้แก่ราษฎรของพระองค์เป็นลำดับมา

เมื่อระบอบการปกครองเปลี่ยนไป พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นพระประมุข ควรจะทรงวางพระราชภาระบางอย่างให้รัฐบาลของพระองค์รับช่วงไปดำเนินการ ดังเช่นที่เป็นอยู่ในหลายประเทศ แต่เพราะเหตุใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบันของเรากลับยิ่งจะทรงเหน็ดเหนื่อยยิ่งขึ้นอีกหลายเท่าในการแบกภาระของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

ทั้งนี้ก็เพราะอาชีพส่วนใหญ่ของประชาชาชาวไทย คือ เกษตรกรรมนั่นเอง เกษตรกรมีความสุขสมบูรณ์ บ้านเมืองก็สงบเรียบร้อย เกษตรกรลำบากยากแค้น บ้านเมืองก็เจริญไม่ได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันประเสริฐของเรา มิได้ทรงนึกแต่เพียงว่า พระองค์ทรงเป็นพระประมุขของประเทศโดยทางนิตินัย หรือตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงระลึกอยู่เสมอว่า พระองค์เป็นคนไทย ที่จะต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทยทุกคนทั่วประเทศไม่ว่าเพศไหน วัยใด ศาสนาใด และอาชีพใด พระองค์ทรงมองประชาชนอย่าง “ลูก” ด้วยความเมตตากรุณาเท่าที่ “พ่อ” จะพึงมีให้ได้อย่างดีที่สุด

ในหลายประเทศที่มีการปลุกระดม ฝ่ายซ้ายจัดมักจี้จุดมีช่องว่างระหว่างชนชั้นและเยุยงชาวนาหรือเกษตรกรว่าตัวเองเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ต้องทำงานอย่าง “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” แต่กลับไม่ได้รับความเหลียวแลจากบุคคลในระดับสูง

แต่ในประเทศไทย การปลุกระดมแบบนี้ย่อมล้มเหลว เพราะราษฏรเห็นได้ด้วยตาของตนเองว่า การปลุกระดมแบบนั้นเป็นเท็จโดยสิ้นเชิง เพราะผู้ที่ทำงานอย่าง “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” ที่แท้จริงในประเทศเกษตรกรรมอย่างประเทศไทย คืิอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระธรรมิกมหาราชของเรานั่นเอง

พระพักตร์ของพระองค์ก้มลงสู่ดินตลอดเวลา ทอดสายพระเนตรดูว่าเกษตรกรของพระองค์มีความเป็นอยู่อย่างไร “ดิน” ที่เขาทำมาหากิน มีพอหรือไม่, เป็นกรรมสิทธิ์ของเขาหรือไม่, มีน้ำน้อยไม่พอเพียงหรือมีมากเกินไป ตลอดจนเมื่อเกี่ยวพืชผลแล้ว จะขายได้ราคายุติธรรมหรือเปล่า

นี่เองเป็นเหตุให้มีการพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ และ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้ “ปฏิรูปที่ดิน” กัน ทรงแนะนำราษฏรให้ปลูกพืชให้เหมาะสมแก่ลักษณะภูมิประเทศ เพื่อให้ได้ผลผลิตมากพอ ทรงแนะให้มีการปลูกป่าทดแทน ทรงชักชวนให้ชาวเขาเลิกทำไร่เลื่อนลอยอันเป็นการทำลายป่า ทรงช่วยเหลือชาวเขาให้ปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่น ทรงแนะเรื่องการสร้างเขื่อน และคลองส่งน้ำ ทรงทดลองเรื่องการทำฝนเทียม(ที่บัดนี้เรียกวาฝนหลวง) จนเป็นผลสำเร็จ ช่วยเกษตรกรได้เป็นอันมาก

นอกจากการเพาะปลูกแล้ว ยังได้ทรงส่งเสริมและทรงทำเป็นตัวอย่าง ในการเลี้ยงโคนม การเพาะพันธุ์ปลาที่โตเร็วเพื่อเป็นอาหารของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จริงอยู่งานทั้งหลายแหล่นี้ย่อมมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ แต่ถ้าหากเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเหล่านั้นไม่มี “บารมี”พอ และไม่เสียสละอย่างแท้จริง ก็ยากที่จะบรรลุผลสำเร็จได้โดยรวดเร็ว งานเกษตรนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานใดโดยเฉพาะ เพราะมันเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ เรื่องที่ดินอยู่กับมหาดไทย เรื่องเขื่อนไม่ใช่เรื่องของชลประทานฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตด้วย เรื่องฝนเทียมบางทีก็ต้องใช้เครื่องบินของทหาร, ตำรวจ เรื่องการนำผลผลิตออกมาสู่ตลาด ต้องใช้ทางของคมนาคม และยังมีเรื่องอื่นๆอีกร้อยแปด ที่สำคัญที่สุดคือ ศรัทธาของประชาชน

ในแต่ละปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้เวลาของพระองค์ประทับแรมอยู่ในต่างจังหวัดมากกว่าพระราชวังที่กรุงเทพฯ พระองค์ทรงทราบสารทุกข์สุกดิบของราษฏรทั่วทุกภาคตั้งแต่เหนือสุดจนถึงใต้สุด ตั้งแต่ตะวันออกจรดตะวันตก ทรงคลุกคลีอยู่กับราษฏร ทรงไต่ถามความเป็นอยู่ของเขาด้วยพระองค์เองโดยไม่ต้องอาศัยรายงาน ทรงสดับความทุกข์ร้อนจากปากของเขา จึงได้ทรงทราบว่าภาคใดจังหวัดใด ท้องที่ใด ควรจะปลุกอะไร เลี้ยงอะไรจึงจะได้ผลดีที่สุด

และก็ทรงใช้ “บารมี” ของพระองค์ ดึงเอาเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆมาประสานงานกัน เพื่อให้ราษฏรอยู่เย็นเป็นสุข

มีประเทศใดบ้างในโลกที่พระมหากษัตริย์ประทับนั่งกับพื้นดินในระดับเดียวกับราษฏรของพระองค์ “จับเข่า” คุยกันถึงเรื่องการทำไร่ไถนา การเจ็บไข้ได้ป่วย มีประเทศไหนที่เราจะได้เห็นคนแก่คนเฒ่าตามบ้านนอกดึงพระหัตถ์พระเจ้าอยู่หัวไปลูบคลำอย่าง “กันเอง” เหมือนเป็นญาติสนิท มีใครเคยคิดว่าจะได้เห็นพระเจ้าอยู่หัวประทับกับพื้นในกระท่อมเล็กๆ เสวยเหล้าเมืองกับหัวหน้าหมู่บ้านชาวเขา มีประเทศไหนในโลกที่พระราชวังที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน จะมีสภาพอย่างพระตำหนักจิตรลดา คือเต็มไปด้วยไร่นาทดลอง บ่อปลา โรงสี ฝูงโค โรงทำนมผงตังอย่าง ฯลฯ

เราพูดได้อย่างเต็มปากว่าในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่าง พระมหากษัตริย์ กับ เกษตรกร และไม่มีใครจะช่วยเหลือยกย่องเกษตรกรยิ่งไปกว่าพระมหากษัตริย์ภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงทำงานอย่างหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินด้วยพระองค์เอง

พลอากาศเอก หะริน หงสกุล

ประธารรัฐสภา

พ.ศ.2523

25560313-010551.jpg

25560313-010559.jpg

 

ป้ายกำกับ: ,

ใส่ความเห็น